โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักเกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

โรคหัดเยอรมัน (Rubella) คือ โรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน อาการคล้ายโรคหัด แต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคหัด เว้นแต่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในระยะแรก ที่เชื้ออาจจะแพร่เข้าสู่ทารกในครรภ์ ส่งผลให้ทารกพิการ และแท้งเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้หญิงตั้งครรภ์ และยังไม่เคยฉีดวัคซีน ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อป้องกันเด็กทารกจากโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมัน

อาการของโรคหัดเยอรมัน

– มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส)

– ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู

– มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม และเมื่อผื่นหายมักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

สาเหตุของหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อรูเบลลาไวรัส (Rubella virus) อยู่ในตระกูลโทกาวิริดี (Togaviridae) เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย จึงติดต่อได้จากการหายใจ และการสัมผัสกับผู้ป่วย เมื่อเชื้อหัดเยอรมันเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อนี้จะกระจายเข้าสู่กระแสเลือด และระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต เชื้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้ง โดยมีระยะฟักตัว 12-24 วัน

การป้องกันโรคหัดเยอรมัน

– การฉีดวัคซีน MMR เข็มแรก ให้เด็กอายุ 9-12 เดือน และให้ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี

– ผู้หญิงที่ต้องการจะมีบุตร หากยังไม่เคยฉีดวัคซีน ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์ พร้อมกับคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อของเด็กทารกได้

– ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัดเยอรมัน ไม่ควรเข้าไปในสถานที่แออัด และมีผู้ผู้คนเยอะ

– ไม่ควรอยู่ใกล้ และใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องดูแล หรืออยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยน้ำสะอาด กับสบู่อย่างสม่ำเสมอ

การวินิจฉัยหัดเยอรมัน

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน ขั้นแรกจะมีการสอบถามข้อมูลและตรวจร่างกายภายนอกทั่วไป เช่น อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ตรวจตามร่างกายว่ามีผื่นขึ้นหรือไม่ มีการติดต่อกับผู้ป่วยโรคนี้หรือผู้ที่มีผื่นขึ้นหรือไม่ จากนั้นจึงมีการตรวจน้ำลายและการตรวจเลือด เพื่อช่วยยืนยันผลการติดเชื้ออีกครั้ง

การรักษาหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่ร้ายแรงและมักดีขึ้นได้เองภายใน 7-10 วัน แพทย์อาจให้มีการดูแลรักษาได้เองจากที่บ้าน เพื่อช่วยบรรเทาให้อาการดีขึ้น

ที่มา

petcharavejhospital.com

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ otoku-info.com